อีกหนึ่งโมเดลทางการตลาด ที่คนทำร้านอาหารในออสเตรเลียต้องรู้

อีกหนึ่งโมเดลทางการตลาด ที่คนทำร้านอาหารในออสเตรเลียต้องรู้ “Sales Funnel”

.

การเปิดร้านอาหารที่ไทย อาจจะไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มาก

เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทยที่อยู่ที่ประเทศไทยนั้น นิยมสั่งอาหารผ่านทาง Third Party App ต่าง ๆ

เช่นพวก Grab หรือ Line Man แล้วก็มีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ ที่จะมีคนสั่งอาหารผ่านเว็บไซท์ของร้านอาหารโดยตรง

.

แต่กลับกัน สำหรับที่ประเทศออสเตรเลีย มีคนจำนวนมาก ที่สั่งอาหารกับเว็บไซท์ของร้านอาหารโดยตรง โดยที่ไม่มีการผ่านพวก Food Delivery Apps เช่นพวก UberEats, Deliveroo, Doordash ฯลฯ

.

และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมเจ้าของร้านอาหารที่ออสเตรเลีย จะต้องให้ความสำคัญกับ Sales Funnel และจะมีความสำคัญมาก ๆ ถ้าร้านของคุณเน้นการขายแบบ Takeaway

.

แล้วไอ้เจ้า Sales Funnel ที่พูดมาข้างต้น 2-3 รอบแล้วเนี้ยมันคืออะไร?

.

ถ้าจะสรุปคร่าว ๆ โดยไม่ต้องให้มันมีความวิชาการมากมาย และอยู่ใน context สำหรับร้านอาหาร

มันก็คือ การออกแบบกระบวนการในการที่จะเปลี่ยนคนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซท์ของเรา

แล้วค่อย ๆ ต้อนเค้าไปเรื่อย ๆ ต้อนเค้าไปจนสุดปากกรวย จนเค้ากดสั่งอาหาร และจ่ายเงินนั่นเอง

นี่มันก็เลยกลายเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษที่เค้าเรียกว่า “Sales Funnel”

.

แล้วไอ้ขั้นตอนเหล่านั้น มันมีอะไรบ้าง?

.

ก็ถ้าลองดูตามรูปกราฟฟิคเลย มันก็จะมี

.

1. ลูกค้าเข้ามายังเว็บไซท์จากการคลิ๊กโฆษณา (ตกเป็นเหยื่อแล้วหนึ่ง 55+)

.

การที่จะให้ลูกค้าเข้ามายังเว็บไซท์ของเราได้ ก็แน่นอนว่า เราจะต้องทำสารพัดวิธีทางการตลาด เพื่อที่จะให้คนเข้ามายังเว็บไซท์เรา และนั่นมันก็มีชื่อเรียกเช่นกัน ซึ่งก็คือ Marketing Funnel เอ๊ะ ทำไมชื่อคุ้นจัง

.

2. ทำให้ลูกค้าเปิดดูเมนู!

.

ลูกค้าเข้ามาแล้ว เอ้อระเหยลอยชาย แล้วก็ออกไป ก็ไม่ได้นะจ้ะ! เราต้องทำให้เค้าเปิดดูเมนูให้ได้ เพื่อที่จะไปยังขั้นตอนต่อไป คือการเลือกเมนูและกดสั่ง ซึ่งวิธีที่จะทำให้เค้าเปิดดูเมนูอาหาร เราก็จะต้องออกแบบ User Interface (UI) ให้ดี เพื่อที่จะทำให้ไอ้ปุ่ม ๆ นั้น มันเย้ายวนชวนใจ จนลูกค้าอดใจไม่ได้ ที่จะต้องไปคลิ๊กสัมผัสมัน

.

3. หยิบเมนูใส่ตะกร้า

.

จะให้คลิ๊กสัมผัสปุ่มเพื่อที่จะดูเมนูแล้ว มันก็ยังไม่พออีก ยังจะต้องทำให้รูปเมนูมันดูสวยงามน่ากิน เอาแค่ให้เห็นก็หิวแล้ว จนเค้าจะต้องเลือกหยิบใส่เข้าไปในตะกร้าออนไลน์ แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ บางทีก็ต้องมีโปรโมชั่นเสริมอัดเข้าไปด้วย!

.

4. กดสั่งอาหาร และจ่ายเงิน

.

ถึงแม้ว่าจะทำมาทั้งหมดข้างต้นแล้ว แต่ลูกค้าไม่กดจ่ายเงิน ก็จบเห่

เพราะฉะนั้นเราจะต้องออกแบบระบบการจ่ายเงินให้มันเข้าถึงง่าย และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า อยากที่จะหยิบบัตรเครดิต ขึ้นมากรอกข้อมูลแล้วจ่ายเงิน หรือจะจ่ายทาง Apple Pay ก็สะดวกดีนะ...

.

เห็นมั้ยว่า เราจะต้องใส่ใจทุกขั้นตอน แล้วเพิ่มความเป็นไปได้ในแต่ละขั้นตอนให้ได้มากที่สุด

เพื่อที่จะต้อนลูกค้ามายังขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการกดสั่งอาหารแล้วจ่ายเงินนั่นเอง

.

ที่เล่ามาทั้งหมด ก็แค่อยากจะบอกว่า

จะทำแค่ถ่ายรูปสวย โพสต์บ่อย แต่ไม่สนใจขั้นตอนอื่น ๆ มันก็ไม่ได้นะ ซึ่งมันก็มีอยู่เยอะมาก ๆ แล้วการทำแค่นั้น ก็ไม่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าทำ Digital Marketing

.

ผมก็จะพยายามเขียนบทความที่เป็นประโยชน์แบบนี้ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในออสเตรเลียได้อ่านกันต่อไปให้ได้มากที่สุดนะครับ

Previous
Previous

วงจรอุบาทว์ ที่เมื่อตกหลุมลงไปแล้ว จะต้องใช้พลังกายพลังใจอย่างมาก ในการออกมาจากวงจรนั้น

Next
Next

ทำการตลาดยังไงให้ได้ผล ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย