ทำไมวัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘ครอบครัว’ ถึงไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป

การอยู่กันแบบครอบครัวไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่สาเหตุที่เราในฐานะเจ้าของร้านอาหารควรระวังก็คือ เราอาจจะมีวัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัวพี่น้องกาสะลอง-ซ้องปีบ แบบไม่รู้ตัว 🌚 🌝

เราอาจจะเจอที่ทำงานที่ทำให้เราคุยเล่นได้ ใช้เวลานอกงานร่วมกัน สนับสนุนการทำงานกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นั่นหมายถึงเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ไม่ใช่ ‘อยู่กันแบบครอบครัว’ เพราะ Mindset อยู่กันแบบครอบครัวมักจะสร้างลักษณะนิสัยบางอย่างให้ทั้งพนักงานและเจ้าของธุรกิจ จนเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้เช่นกัน

ลองมาดูกันครับว่าการนิยามว่า ‘ร้านเราอยู่กันแบบครอบครัว’ จะส่งผลให้เกิดข้อเสียอย่างไรบ้าง

‘Family Culture’ ทำให้คำว่า ‘Professional’ หายไป

ส่วนหนึ่งจากบทความของ Harward Business Review บอกว่า คำว่า ‘ครอบครัว’ จะลดความ Professional ในการทำงาน นั่นเป็นเพราะ แต่ละคน ‘ครอบครัว’ มีความหมายไม่เหมือนกัน เพราะแน่นอนว่าเวลาอยู่กับครอบครัวคนเรามักจะมีลักษณะนิสัยอีกแบบที่แตกต่างกันออกไป

เพราะธุรกิจก็คือธุรกิจ ร้านอาหารก็คือธุรกิจอย่างนึง นายจ้างเสียเงินจ้างลูกจ้างมาทำงาน ลูกจ้างมอบแรง และเวลาให้กับร้านเพื่อแลกกับเงินค่าจ้างที่คุ้มค่า ต่อให้พนักงานทำงานได้ดีแค่ไหน นายจ้างก็สามารถตอบแทนได้เพียงค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ความเอ็นดูเล็ก ๆ น้อย ๆ และสิ่งนี้ไม่น่าเรียกว่าความรักในครอบครัวเท่าไหร่ เพราะมันคือการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่ากันทั้งสองฝ่าย

วัฒนธรรมครอบครัว ก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณโดยไม่ตั้งใจ (Unethical)

บทความยังกล่าวด้วยอีกว่า จากผลการรีเสิร์ชพบว่า หลายครั้งที่วัฒนธรรมครอบครัวในองค์กร ก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณโดยไม่ได้ตั้งใจจากทั้งเจ้าของกิจการ และพนักงาน เช่นการขอให้ทำงานล่วงเวลา และการไม่ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพของพนักงาน

ในฐานะนายจ้างคุณก็คงอยากได้พนักงานที่ทุ่มเททำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ คุ้มกับค่าแรงที่คุณจ่ายให้ แต่อย่าลืมว่าพนักงานเหล่านี้คือฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ร้านของคุณเดินไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยและมั่นคงเช่นกัน

ในฐานะลูกจ้าง คุณก็คงอยากได้นายจ้างที่เห็นคุณค่าในการทำงานของคุณ และจ่ายค่าแรงที่เหมาะสมกับความทุ่มเทที่คุณให้ แต่อย่าลืมว่าต่อให้คุณทุ่มเทมากแค่ไหน คุณก็ไม่สามารถไปคาดหวังได้ว่านายจ้างจะรักคุณเหมือนลูกคนหนึ่ง การทุ่มเทมากเกินไปบางครั้งกลายเป็นการทำร้ายตัวเองเช่นกัน แต่ถ้าคุณทำงานแบบส่ง ๆ ไม่ใส่ใจ ก็จะไม่มีใครอยากจ้างคุณ และคุณเองก็จะไม่มีโอกาสได้เติบโตเพราะว่าไม่มีใครอยากหยิบยื่นโอกาสให้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องบาลานซ์ให้ดี

ต่างฝ่ายต่างประโยชน์จากความใจดี หรือความอ่อนแอของอีกฝ่าย

หลายครั้งที่หากนายจ้างสปอยล์พนักงานมากเกินไป จนทำให้เสียนิสัยก็มี และหลายครั้งที่พนักงานไม่ใส่ใจทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็เพราะเห็นว่าเจ้าของร้านใจดี แค่นี้ไม่เป็นไรหรอก หรือนายจ้างที่สักแต่จะเอาจากพนักงานจนกลายเป็นการทำนาบนหลังคนจนไม่รู้ตัวก็มีให้เห็นทั่วไป

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่านิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพราะพลวัตนี้อาจส่งผลให้ลูกจ้างรู้สึกไร้อำนาจเพราะหลายครั้งที่ครอบครัวสั่งสอนให้เชื่อฟัง ทำตาม โดยไม่ตั้งคำถาม

อีกปัญหาคือนายจ้างมักจะไม่กล้าปลดคนที่มีผลงานย่ำแย่ออกจากบริษัท เพราะครอบครัวคือเราต้องพาทุกคนไปด้วยกัน นี่เป็นการนำความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาใช้ในองค์กร และมันจะยิ่งส่งผลกระทบต่อไปเป็นทอด ๆ (ลองนึกภาพตาม หากมีพนักงานที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจนกินแรงเพื่อนร่วมงาน ทำให้พนักงานอื่น ๆ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แล้วทีนี้คนที่จะได้รับผลกระทบในสุดท้ายก็คือเจ้าของกิจการนั่นเอง)

เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะนายจ้างหรือลูกจ้าง คุณต้องการเพียงแค่การแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมนั่นเอง ส่วนความสัมพันธ์ที่ดีนั่นคือ Extra Benefit ที่เหมือนจะได้เพิ่มมาหากเจอคนที่คลิกกันทั้งเรื่องงานและนอกงาน

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ คุณอาจจะลองกลับไปย้อนดูว่าตอนนี้ร้านของคุณอยู่กันแบบครอบครัว ‘กาสะลอง-ซ้องปีบ’ ที่จ้องจะเอาเปรียบกัน หรืออยู่กันแบบทีมที่ช่วยกันซัพพอร์ตกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจนเรียกว่ามี ‘วัฒนธรรมองค์กรที่ดี’ กันแน่


บทความอื่น ๆ


สนใจถ่ายรูปอาหาร โปรดักส์สินค้า หรือทำการตลาด ติดต่อได้ที่

Facebook: www.facebook.com/TheNontouch
Instagram: www.instagram.com/the.nontouch
Email: thenontouch@gmail.com

Sydney, Melbourne, Brisbane, Gold Coast, Sunshine Coast, Adelaide, Canberra

Previous
Previous

Heinz ซอสมะเขือเทศกับแคมเปญสุดกวน ที่ไม่ยอมแก่ไปตามเวลา

Next
Next

ภาพผลงานบางส่วนที่ทำให้กับร้าน Porkfat Sydney